ประวัติมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

       มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ตั้งอยู่เลขที่ 39/1 ถนนรัชดาภิเษก แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร พื้นที่จำนวน 89 ไร่ 88 ตารางวา และพื้นที่อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท 326 ไร 85 ตารางวา รวมพื้นที่รับผิดชอบทั้งหมด 415 ไร่ 1 งาน 73 ตารางวา
       มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษมพัฒนาจากโรงเรียนฝึกหัดครูมัธยมสู่การวิทยาลัยครูจันทรเกษม สถาบันราชภัฏจันทรเกษม และมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม โดยมีประวัติและการพัฒนาการ ตามลำดับดังนี้

        มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม  เดิมชื่อว่า “โรงเรียนฝึกหัดครูมัธยม” เป็นโรงเรียนที่เปิดสอนในระดับฝึกหัดครูมัธยม  รับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนฝึกหัดครูประโยคครูประถม (ป.ป.)  และนักเรียนที่สำเร็จชั้นมัธยมปีที่ 8  มาศึกษาต่อเพื่อเลื่อนฐานะจากครูหลักสูตรประกาศนียบัตรประโยคครูประถม ให้สูงขึ้นไปสู่ครูประกาศนียบัตรประโยคครูมัธยม
        โรงเรียนฝึกหัดครูมัธยม ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2483  เปิดสอนในปีการศึกษา 2484  เป็นโรงเรียนสหศึกษา  คือ  ชายหญิงเรียนรวมกันโดยมีหม่อมหลวงมานิจ ชุมสาย เป็นอาจารย์ใหญ่คนแรก
        ในระยะเริ่มแรกโรงเรียนฝึกหัดครูมัธยมยังไม่มีอาคารสถานที่เรียน  จึงไปอาศัยเรียนที่โรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ใกล้ซอยกิ่งเพชร ต่อมาได้ย้ายไปใช้อาคารริมถนนในเขตวังจันทรเกษม ซึ่งอยู่ด้านหลังกระทรวงศึกษาธิการเป็นสถานที่เรียน จึงเรียกติดปากว่า “ป.ม. หลังกระทรวง”
        พ.ศ.2491   อาจารย์กมล  เภาพิจิตร  ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ คนที่ 2
        พ.ศ.2497  อาจารย์โชค  สุคันธวณิช  ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ คนที่ 3
        พ.ศ.2501   อาจารย์ประยุทธ  สวัสดิสิงห์  ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ คนที่ 4

        กระทรวงศึกษาธิการประกาศยกฐานะ “โรงเรียนฝึกหัดครูมัธยม” เป็น “วิทยาลัยครู” และให้เปลี่ยนหลักสูตรการผลิตครูประกาศนียบัตรประโยคครูมัธยม (ป.ม.) เป็นการผลิตครูประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ. ชั้นสูง) และกระทรวงศึกษาธิการได้จัดสร้างสถานที่ทำการคุรุสภาในบริเวณที่ตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูมัธยม โรงเรียนฝึกหัดครูมัธยมจึงย้ายไปตั้งใหม่ที่ซอยสังขะวัฒนะ 2 (ลาดพร้าว 23)  ตำบลลาดยาว อำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร  ในเนื้อที่ 89 ไร่   88 ตารางวา  ซึ่งที่ดินแห่งนี้ คุณย่าสุ่น พานิชเฮง ถวายที่ดินให้กับวัดเสมียนนารี และวัดเทวสุนทร ต่อมากรมการฝึกหัดครูจึงได้ขอเช่าเพื่อจัดเป็นสถานศึกษา ตั้งชื่อใหม่ว่า “วิทยาลัยครูจันทรเกษม” เพราะเคยอยู่ในเขตวังจันทรเกษม และปีสุดท้ายของการผลิตครูประกาศนียบัตรประโยคครูมัธยม (ป.ม.)  ซึ่งเป็นนักเรียนฝึกหัดครู ป.ม. รุ่นที่ 18

        พ.ศ.2503  อาจารย์สนอง  สิงหะพันธุ์  ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ คนที่ 5
        พ.ศ.2508  อาจารย์พงศ์อินทร์  ศุขขจร  ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ คนที่ 6
        พ.ศ.2513  ตำแหน่ง “อาจารย์ใหญ่” เปลี่ยนเป็นตำแหน่ง “ผู้อำนวยการ” (ชั้นพิเศษ)
        พ.ศ.2515  คุณหญิงบุญฉวี  พรหมโมปกรณ์กิจ  ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ คนที่ 1 
        พ.ศ.2517  อาจารย์สนอง  สิงหะพันธุ์  ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ คนที่ 2
        พ.ศ.2518  พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. 2518  ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา  มีผลให้ตำแหน่ง “ผู้อำนวยการ” เปลี่ยนเป็น “อธิการ”  ส่วนราชการในวิทยาลัยประกอบด้วยสำนักงานอธิการ  และคณะวิชา  ซึ่งมีคณะวิชาครุศาสตร์  คณะวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  และคณะวิชาวิทยาศาสตร์ คณะวิชาประกอบด้วยภาควิชาต่าง ๆ ประกาศนียบัตรอุดมศึกษา (ป.อ.) เปลี่ยนเป็นครุศาสตรบัณฑิต (ค.บ.)
        พ.ศ.2519  อาจารย์วิศิษฏ์  ชุมวรฐายี  ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิการ 
        พ.ศ.2528  พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู (ฉบับที่ 2)  พ.ศ. 2527  ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลให้วิทยาลัยครูจันทรเกษมรวมกลุ่มอยู่ใน “สหวิทยาลัยรัตนโกสินทร์” ซึ่งพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู  (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2527  ได้กำหนดให้วิทยาลัยครูรวมเป็นกลุ่มเพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานร่วมกัน  และสภาการฝึกหัดครูได้ออกข้อบังคับว่าด้วยกลุ่มวิทยาลัยครู พ.ศ. 2528 กลุ่มวิทยาลัยครูจึงพัฒนาไปเป็น “สหวิทยาลัย” และวิทยาลัยครูจันทรเกษม  สังกัดอยู่ใน “สหวิทยาลัยรัตนโกสินทร์” 
        พ.ศ.2528 วิทยาลัยครูจันทรเกษม ได้ก่อตั้งมาครบรอบ 45 ปี เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 รองศาสตราจารย์อินทร์  ศรีคุณ  ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิการวิทยาลัยครูจันทรเกษม
        พ.ศ. 2532  รองศาสตราจารย์ทองคูณ  หงส์พันธุ์  ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิการวิทยาลัยครูจันทรเกษม
        พ.ศ.2533  วิทยาลัยครูจันทรเกษม  ได้ก่อตั้งมาครบรอบ 50 ปี เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2533  ศาสตราจารย์คุณบรรจบ พันธุเมธา  มอบห้องสมุดศาสตราจารย์คุณบรรจบ  พันธุเมธา  ให้แก่วิทยาลัยครูจันทรเกษม
        พ.ศ.2534  วิทยาลัยครูจันทรเกษมได้รับคัดเลือกจากกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นสถานศึกษาดีเด่นรางวัลพระราชทานระดับอุดมศึกษา
        พ.ศ.2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้พระราชทานนามใหม่ให้กับวิทยาลัยครูว่า “สถาบันราชภัฏ” เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535  ดังนั้น  วิทยาลัยครูจันทรเกษมจึงเปลี่ยนเป็น “สถาบันราชภัฏจันทรเกษม” 
        พ.ศ.2537 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปรีชา  เศรษฐีธร  ได้รับการแต่งตั้งมาดำรงตำแหน่งอธิการวิทยาลัยครูจันทรเกษม

        พ.ศ.2538 พระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ  ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา  เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2538 โดยนายชวน  หลีกภัย  นายกรัฐมนตรี  เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการและมีผลบังคับใช้ใน วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2538  “วิทยาลัยครู” เปลี่ยนเป็น “สถาบันราชภัฏ” 
        “ให้สถาบันราชภัฏเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น  มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาวิชาการ  และวิชาชีพชั้นสูง  ทำการวิจัย  ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม  ปรับปรุงถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยี  ทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ผลิตครู  และส่งเสริมวิทยฐานะครู” โดยเฉพาะทางด้านการผลิตบัณฑิต  สถาบันราชภัฏทุกแห่งสามารถผลิตบัณฑิต ได้สูงกว่าระดับปริญญาตรี
        ตำแหน่ง “อธิการ” เปลี่ยนเป็น “อธิการบดี” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปรีชา เศรษฐีธร ดำรงตำแหน่ง “อธิการรักษาราชการในตำแหน่งอธิการบดีสถาบันราชภัฏจันทรเกษม” ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2538
        พ.ศ.2540 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง  รองศาสตราจารย์สุวรรณี  ศรีคุณ  ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีสถาบันราชภัฏจันทรเกษม เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม  พ.ศ.  2540
        พ.ศ.2542  ได้เปิดศูนย์การศึกษาจันทรเกษม – สหะพาณิชย์ ที่โรงเรียนสหะพาณิชย์ ซอยสุขุมวิท 101  (ปุณณวิถี)  ถนนสุขุมวิท  กรุงเทพมหานคร
        พ.ศ.2543  จัดตั้งศูนย์การศึกษาจันทรเกษม – เทคนิคชัยนาท  
        พ.ศ.2544  จัดตั้งศูนย์การศึกษาจันทรเกษม – มีนบุรี
        พ.ศ.2544  นายสมศักดิ์  วยะนันทน์  ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิชาการ  กรรมการสภาประจำสถาบันราชภัฏจันทรเกษม  รักษาราชการแทนอธิการบดีสถาบันราชภัฏจันทรเกษม
        พ.ศ.2545 รองศาสตราจารย์มัณฑรา  ธรรมบุศย์  คณบดีคณะครุศาสตร์  กรรมการสภาประจำสถาบันราชภัฏจันทรเกษม  รักษาราชการแทนอธิการบดีสถาบันราชภัฏจันทรเกษม 
        พ.ศ.2545  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งรองศาสตราจารย์เทื้อน  ทองแก้ว  ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีสถาบันราชภัฏจันทรเกษม  เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน  พ.ศ. 2545

        พ.ศ.2547  พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547  ประกาศในราชกิจจานุเบกษา  เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2547  และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2547  ให้ “สถาบันราชภัฏ” มีฐานะเป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฏ” 
        พ.ศ.2547 รองศาสตราจารย์มานพ  พราหมณโชติ  รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม
        พ.ศ.2548 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรองศาสตราจารย์มานพ  พราหมณโชติ  ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม  เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2548  
        พ.ศ.2548 มีประกาศกระทรวงมหาดไทย  เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2548  ให้มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษมใช้ประโยชน์ในราชการพื้นที่ตำบลแพรกศรีราชา  อำเภอสรรคบุรี  จังหวัดชัยนาท  เนื้อที่ประมาณ 326 ไร่ 85 ตารางวา เป็นที่ตั้งศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม – ชัยนาท 
        พ.ศ.2548  มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา  เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2548  เรื่อง  การจัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม  กระทรวงศึกษาธิการ 10 หน่วยงาน  ได้แก่  สำนักงานอธิการบดี  คณะเกษตรและชีวภาพ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  คณะวิทยาการจัดการ  คณะวิทยาศาสตร์  คณะศึกษาศาสตร์  สถาบันวิจัยและพัฒนา สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ  สำนักศิลปะและวัฒนธรรม  และสำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน
        พ.ศ.2549  มหาวิทยาลัยเปิดสอนหลักสูตรแพทย์แผนจีนบัณฑิต  และบัณฑิตวิทยาลัย  เปิดสอนหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต  สาขาวิชาการพัฒนาธรรมาภิบาล 
        พ.ศ.2552  รองศาสตราจารย์เดช  พุทธเจริญทอง  กรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม 
        พ.ศ.2552   ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายสุชาติ  เมืองแก้ว  ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม  เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2552
        พ.ศ.2554  รองศาสตราจารย์สุมาลี  ไชยศุภรากุล คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  กรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม  ตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2554  ถึง  วันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2554  
        พ.ศ.2554  นายแพทย์วิชัย  โชควิวัฒน  กรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม   ตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ถึง วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555  
        พ.ศ. 2555  รองศาสตราจารย์สุมาลี  ไชยศุภรากุล คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  กรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม  ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2555 ถึง วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2555
        พ.ศ.2555  นายแพทย์วิชัย  โชควิวัฒน  กรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม   ตั้งแต่ วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ถึง วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2555
        พ.ศ. 2555  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรองศาสตราจารย์สุมาลี  ไชยศุภรากุล  ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม  เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ถึง 11 กรกฏาคม พ.ศ. 2564
        พ.ศ. 2564  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรองผู้ช่วยศาสตราจารย์ราเชนทร์ เหมือนชอบ  ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษมเมื่อวันที่ 12 กรกฏาคม พ.ศ. 2564 ถึงปัจจุบัน